การถอนฟัน
การถอนฟันเป็นหนึ่งในวิธีทางทันตกรรมที่สามารถช่วยรักษาฟันได้อย่างรวดเร็วที่สุด แต่ก็ต้องเผชิญกับการสูญเสียฟันไปด้วย ซึ่งมักจะเป็นฟันที่มีสภาพเกินจะเยียวยารักษาได้นั่นเอง หรือฟันมีปัญหาบางประการที่ทันตแพทย์เห็นสมควรให้ถอนออก
ลักษณะฟันที่จำเป็นต้องถอนฟัน
- ฟันผุทะลุถึงโพรงประสาทฟันหรือฟันที่มีหนองบริเวณปลายรากฟัน จนไม่สามารถรักษาทางทันตกรรมอื่นๆ ได้
- มีปัญหาโรคเหงือกอย่างรุนแรง
- ฟันหักอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้
- ฟันคุดหรือฟันที่มีรูปร่างผิดปกติ และฟันที่ขึ้นในตำแหน่งผิดปกติ
- ฟันที่มีพยาธิสภาพอย่างเช่นมีถุงน้ำหรือเนื้องอก
- ฟันเกินที่ขึ้นมาไม่เป็นระเบียบ
การพิจารณาว่าจะต้องถอนฟันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและดุลพินิจจากทันตแพทย์เท่านั้น ซึ่งทันตแพทย์จะทำการซักประวัติเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น รวมถึงผู้ป่วยที่มีเลือดออกง่ายและหยุดยาก เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดภายหลังการถอนฟันค่ะ
ภายหลังจากการถอนฟัน เมื่อแผลหายดีแล้ว ควรที่จะใส่ฟันเพื่อทดแทนฟันที่ถูกถอนไป เพื่อป้องกันฟันซี่ข้างเคียงจะล้มเข้าหาช่องว่าง และป้องกันการละลายตัวของกระดูกบริเวณรอบๆซี่ฟันที่ถูกถอนออกไป ซึ่งการทดแทนฟันซี่ที่ถูกถอนไป มีหลายวิธี เช่น การใส่ฟันปลอม ซึ่งมีทั้งแบบถอดได้ และแบบติดแน่น หรือ การทำรากฟันเทียมเป็นต้น