การ “จัดฟัน” กับความเชื่อผิดๆ ที่คุณควรรู้

จัดฟันกับความเชือผิดๆ

 

จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีคนเข้าใจอะไรผิดๆ เกี่ยวกับการจัดฟันอยู่ไม่น้อย เพราะบางเรื่องนั้นอาศัยการพูดต่อๆ กันมาเนิ่นนาน จนในที่สุดกลายเป็นความเชื่อผิดๆ ที่บอกต่อกัน และเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ จนทำให้บางคนตัดสินใจไม่จัดฟันเพราะหลงเชื่อชุดความรู้ที่ผิดๆ นั้น ความเชื่อผิดๆ อะไรบ้างที่ทุกคนที่อยากจัดฟันควรทำความเข้าใจใหม่

การจัดฟันกับความเชื่อผิดๆ ที่คุณควรรู้

  1. เชื่อว่า คนที่อายุเกิน 30 ปีไปแล้ว ไม่ควรจัดฟันเพราะจะไม่ได้ผลเหมือนคนที่อายุยังน้อย เรื่องนี้ไม่จริงเลย ในความจริงคนที่อายุน้อยเกินไปต่างหากที่ยังไม่ควรจัดฟันเพราะฟันยังมีการพัฒนาต่ออยู่ ส่วนคนที่อายุเกิน 30 ปี หรือแม้แต่คนที่อายุ 50 ปีแล้วก็ยังสามารถจัดฟันได้ปกติ
  2. เชื่อว่าจัดฟันแล้ว หน้าจะเรียวขึ้น จุดเริ่มต้นความเชื่อนี้น่าจะมาจากคนในวงการบันเทิงที่มีการให้สัมภาษณ์เมื่อถูกทักว่าหน้าเรียวสวยขึ้น แล้วให้เหตุผลว่า ไปจัดฟันมา ซึ่งความเป็นจริงนั้น การจัดฟันไม่ได้ทำให้หน้าเรียวขึ้นอย่างเป็นผลโดยตรง แต่รูปหน้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง สำหรับบางคนที่มีการถอนฟันบางซี่ หรือในช่วงจัดฟันแรกๆ ที่รับประทานอาหารได้น้อยลง เลยผอมลง และทำให้หน้าพลอยเล็กลงไปเท่านั้น ยิ่งพูดต่อว่าทำให้จมูกโด่งขึ้นด้วยแล้ว ยิ่งไม่เกี่ยวกันเลย เพียงแต่ความผอม และฟันที่ถูกจัดระเบียบ อาจทำให้แก้มยุบเลยมองเห็นจมูกชัดเจนขึ้นเท่านั้น
  3. เชื่อว่าคนที่จัดฟันทุกคนจะต้องมีการถอนฟันเสมอ ทำให้ไม่อยากจัดฟันเพราะยังอยากมีฟันครบ 32 ซี่อยู่ ข้อนี้ไม่จริงเลย เพราะการวินิจฉัยว่า ต้องถอนฟันหรือไม่ ทันตแพทย์จะดูจากสภาพปัญหาฟันดั้งเดิมว่าจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่จะต้องถอน จะไม่มีการถอนเพื่อประสงค์อย่างอื่นเด็ดขาด
  4. เชื่อว่า ต้นทุนในการจัดฟันสูงมาก หลายหมื่นจนถึงเป็นแสน ทำให้ไม่กล้าที่จะจัดฟันเพราะเสียดายเงิน หรือเงินไม่พอ ความจริงแล้ว ราคาค่าจัดฟันนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพฟันที่มีปัญหา และการเลือกใช้เครื่องมือจัดฟันชนิดไหน ถ้าเป็นเครื่องมือจัดฟันที่นิยมทั่วไปที่เป็นโลหะ ก็อยู่ในระดับหมื่นต้นๆ และไม่ใช่การชำระทั้งก้อน แต่จะมีการผ่อนชำระเป็นงวดๆ ในระยะเวลา 1-3 ปี จึงเป็นการชำระครั้งละระดับพันบาทเท่านั้น
  5. เข้าใจผิดว่า ทันตแพทย์ทุกคนสามารถจัดฟันได้ ข้อนี้ยังมีบางคนเข้าใจผิด แต่ความจริงก็คือ ทันตแพทย์ที่จะจัดฟันให้คุณได้นั้นจะเป็นทันตแพทย์ที่มีความรู้เฉพาะด้านจัดฟัน (Orthodontists) เป็นผู้ผ่านการศึกษาเฉพาะด้านการจัดฟัน ซึ่งเป็นหลักสูตร 3 ปีด้านทันตกรรมการจัดฟัน เพราะเป็นความรู้เฉพาะทางเหมือนแพทย์ที่แพทย์ทั่วไปก็รักษาโรคทั่วไป หากจะผ่าตัดก็ต้องเป็นแพทย์เฉพาะทางเช่นกัน
  6. เข้าใจผิดว่า คนที่จัดฟันจะกินอะไรไม่ได้เลยเพราะจะปวดฟันที่โดนเครื่องมือดึง ต้องใช้ชีวิตไม่ปกติจนกว่าจะจัดฟันเสร็จ ซึ่งความจริงไม่ถึงกับเป็นเช่นนั้น อาจมีในช่วงต้นๆ ที่คนไข้ยังไม่คุ้นชินกับการที่มีเครื่องมือจัดฟันอยู่ในปาก สักระยะหนึ่งเมื่อปรับตัวได้ ก็จะสามารถใช้ชีวิตเหมือนก่อนจัดฟันได้ ส่วนเรื่องการรักษาความสะอาดของฟันนั้นก็เป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำอยู่แล้ว
  7. เข้าใจผิดว่า เครื่องมือจัดฟันชนิดโลหะจะทำให้รากฟันไม่แข็งแรงเพราะมีแรงดึงมากกว่าเครื่องมือจัดฟันชนิดอื่น ข้อนี้ไม่จริงเช่นกัน เพราะการเคลื่อนฟันแต่ละครั้งนั้นมีความแน่นอนว่า เคลื่อนได้ครั้งละแค่ไหน ไม่ใช่เคลื่อนจากตำแหน่งครั้งละมากๆ จนรากฟันเคลื่อน
  8. คนที่จัดฟันจะมีปัญหาฟันผุง่าย ต้องคอยแปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร การดูแลยุ่งยากไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นภาระติดพัน ความจริงแล้ว คนจัดฟันหรือไม่จัดฟันก็ต้องดูแลเรื่องความสะอาดตามความเหมาะสมเช่นกัน การแปรงฟันก็ไม่ใช่จะต้องทำตลอดเวลาจนกลายเป็นวิตกจริต
  9. เชื่อว่า จัดฟันเสร็จแล้วเป็นอันจบ ไม่ต้องทำอะไรอีก เพราะฟันจะสวยเหมือนหลังจัดเสร็จไปตลอดชีวิต ความจริงคือ ไม่ใช่ เพราะหลังจากจัดฟันแล้วจะต้องมีการดูแลเรื่องการใส่รีเทนเนอร์เพื่อรักษารูปแบบฟันที่จัดมาให้คงอยู่ ไม่ให้มีภาวะฟันล้มจนต้องจัดฟันใหม่
  10. มีความกังวลเพราะเชื่อว่า คนที่จัดฟัน เครื่องมือจัดฟันสามารถไปเกี่ยวกับอะไรได้ การจูบกับคนรักจึงไม่สามารถทำได้ถ้ามีการจัดฟัน เรื่องนี้เข้าใจผิดอย่างมาก เพราะเครื่องมือจัดฟันจะถูกติดกับฟันอย่างมีหลักการ ไม่สามารถเกี่ยวติดอะไรง่ายๆ โดยเฉพาะกับคนอื่น จึงสามารถใช้ชีวิตปกติต่อไปได้แม้จัดฟัน
  11. เข้าใจผิดว่า คนที่จัดฟันไปแล้ว จะดีก็เฉพาะตอนเป็นหนุ่มเป็นสาวเท่านั้น พอแก่ตัวไปจะแย่ ความจริงแล้ว คนจัดฟันที่ดูแลฟันได้ดีและสม่ำเสมอก็มีสิทธิ์ที่จะมีฟันที่แข็งแรงกว่าคนที่ไม่ได้จัดฟันแต่ดูแลฟันไม่ดีก็ได้

ทางที่ดี ก่อนจัดฟัน ควรศึกษาหาความรู้ให้ดีจากผู้รู้จริง ไม่ใช่เชื่อตามที่พูดกันต่อๆ มาเท่านั้น

ย้อนกลับด้านบน