6 เหตุผล ทำไมต้องผ่าฟันคุด เก็บไว้ไม่ได้เหรอ?
ฟันคุด เป็นฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติในช่องปาก อาจจะขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่ พบบ่อยที่สุดบริเวณฟันกรามล่างซี่สุดท้าย โดยปกติแล้วฟันซี่นี้ควรจะขึ้นในช่วงอายุ 18 – 25 ปี อาจโผล่ขึ้นอยู่ในลักษณะตั้งตรง เอียง หรือนอนในแนวระนาบ และมักจะอยู่ชิดกับฟันข้างเคียงเสมอ นอกจากนี้ฟันซี่อื่น ๆ ก็อาจจะคุดได้ เช่น ฟันเขี้ยว ฟันกรามน้อย แต่ก็พบได้น้อยกว่าฟันกรามล่างซี่สุดท้าย
การผ่าตัดฟันคุดมีจุดประสงค์หลายประการ ได้แก่
1.ทันตแพทย์พิจารณาแล้ว ว่าฟันคุดซี่นั้น ไม่สามารถขึ้นมาได้อย่างเต็มซี่ หรือไม่สามารถขึ้นมาแบบตั้งตรงได้
2.เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงผุ ซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่สองที่อยู่ชิดกันนั้น ทำความสะอาดได้ยาก เศษอาหารจะติดค้างอยู่ทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่
3.เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก ฟันคุดที่ทิ้งไว้นานไปเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุด อาจจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำ แล้วโตขึ้นโดยไม่แสดงอาการเลย จนในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกรอบ ๆ บริเวณนั้น
4.ป้องกันการละลายตัวของกระดูกรอบๆรากฟันหรือรากฟันของซี่ข้างเคียง ที่เกิดจากการปล่อยให้มีการอักเสบของเนื้อเยื่อเหงือกมานาน
5.ผ่าฟันคุดเพื่อจุดประสงค์อื่นๆ เช่น การจัดฟันหรือใส่ฟันปลอม เพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนฟันซี่อื่น ๆ หรือในกรณีที่ต้องใส่ฟันปลอม
6.ป้องกันการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน เพราะจะมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือก แล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้ เชื้อแบคทีเรียที่มาสะสมอยู่จะทำให้เหงือกอักเสบ ปวดและบวมเป็นหนอง ถ้าทิ้งไว้การอักเสบจะลุกลามไปใต้คาง หรือใต้ลิ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ง่าย นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
ดังนั้น เมื่อพบว่ามีฟันคุดแล้ว ควรที่จะผ่าออกเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดดังที่กล่าวมาข้างต้นได้ และการผ่าฟันคุดในช่วงที่อายุยังน้อย (18 – 25 ปี) สามารถทำได้ง่าย แผลหายเร็วและผลแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดก็ต่ำอีกด้วย