Author Archives: admin

การทำรากฟันเทียม

การทำรากฟันเทียม   การทำรากฟันเทียมเป็นวิธีทางทันตกรรมอย่างหนึ่ง จะทำให้กรณีที่มีการสูญเสียฟันไป อาจจะเกิดจากหลายๆสาเหตุ เช่น ฟันผุ ฟันแตก หรือ เกิดอุบัติเหตุทำให้ต้องถอนฟันไป   การทำรากฟันเทียมเพื่อปลูกรากฟันเทียมทดแทนรากฟันจริง ช่วยให้ผู้ที่สูญเสียฟันแท้สามารถมีฟันเสมือนจริงและใช้งานได้เหมือนเดิม ซึ่งวิธีนี้จะสามารถช่วยทดแทนฟันปลอมและสะพานฟันได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีความแข็งแรงและไม่ทำให้สูญเสียเคลือบฟันบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย   การทำรากฟันเทียมเป็นการผ่าตัดโดยนำเอาโลหะผสมหรือโครงฝังลงภายใต้เหงือก ในบริเวณตำแหน่งของขากรรไกร จนกว่ารากเทียมกับกระดูกขากรรไกรจะประสานกันสนิท จากนั้นจะนำฟันใหม่มายึดติดกับรากฟันเทียมนี้ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการพูดและเคี้ยวอาหารอย่างยิ่ง เพราะให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติมากกว่าฟันปลอมแบบธรรมดานั่นเอง   สำหรับการเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการทำรากฟันเทียมนั้น จะต้องมีสุขภาพเหงือกที่แข็งแรงและมีกระดูกขากรรไกรมากพอที่จะรองรับรากฟันเทียมนี้ได้ รักษาสุขอนามัยภายในช่องปากให้ดีอยู่เสมอ และไปพบทันตแพทย์ตามนัด นอกจากนี้การทำรากฟันเทียมยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการรักษาแบบอื่น

การทำครอบฟัน

การทำครอบฟัน   การทำครอบฟันเป็นวิธีการบูรณะฟันอย่างหนึ่ง ซึ่งได้รับความเสียหายหรือการแตกหัก อันเนื่องมาจากสบฟัน การรักษารากฟัน ฟันผุที่มีรูขนาดใหญ่ รวมถึงความเสื่อมของฟันตามกาลเวลา การครอบฟันจึงช่วยให้ฟันมีความแข็งแรงมากขึ้น และสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเดิม       ใครควรได้รับการรักษาด้วยวิธีครอบฟัน ผู้ที่ควรได้รับการทำครอบฟันจึงมักจะมีสภาพฟันที่ไม่เหมาะสมกับการรักษาด้วยการทำทันตกรรมวิธีอื่น เช่น ฟักหักหรือฟันร้าว ฟันที่อุดมานาน การรักษาสะพานฟัน ฟันที่มีรูผุขนาดใหญ่ หรือหลังการรักษารากฟัน เป็นต้น   วัสดุที่นำมาใช้ครอบฟัน วัสดุที่นำมาใช้มีหลากหลายชนิดด้วยกัน โดยมีทั้งข้อดี ข้อเสีย ความเป็นธรรมชาติ และราคาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งมีตั้งแต่วัสดุโลหะล้วนอย่างเช่นทอง วัสดุที่เป็นเรซินกับเซรามิก และวัสดุที่เป็นเซรามิกผสมกับโลหะ

การทำสะพานฟัน

การทำสะพานฟัน   สะพานฟันจะทำให้กรณีที่ฟันถูกถอนไป เนื่องจากสาเหตุต่างๆเช่น ฟันผุ ฟันแตก เป็นต้น   การทำสะพานฟันเป็นการทำฟันปลอมอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นฟันปลอมชนิดติดแน่น ซึ่งจะช่วยรักษารูปหน้า การพูด และการเคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยป้องกันไม่ให้ฟันซี่อื่นๆ เคลื่อนที่ไปจากตำแหน่งเดิม หรือที่เรียกกันว่า “ฟันล้ม” นั่นเอง       การทำสะพานฟันเป็นการทดแทนฟันที่สูญเสียไป โดยมีสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างฟันซี่ข้างเคียง ซึ่งฟันที่อยู่ข้างๆ ฟันที่สูญเสียนั้นจะเรียกว่า “ฟันหลัก” ส่วนฟันที่ทดแทนจะเรียกว่า “ฟันตัวลอย” หรือฟันปลอม (Pontic) โดยแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้   สะพานฟันแบบธรรมดา เป็นแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด สะพานฟันแบบมีหลักยึดข้างเดียว สำหรับผู้ที่ไม่มีฟันข้างใดข้างหนึ่งของฟันที่สูญเสียไป สะพานฟันแบบแมรี่แลนด์ มีแกนลักษณะคล้ายปีกใช้ในการติดยึดด้านหลังของฟันหลักทั้งสองซี่   สำหรับค่าใช้จ่ายในการทำสะพานฟันนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะและพื้นที่ของฟันที่สูญเสีย โดยสะพานฟันมีอายุการใช้งานได้หลายปี หากดูแลและรักษาความสะอาดเป็นอย่างดีค่ะ

ทันตกรรมสำหรับเด็ก

ทันตกรรมสำหรับเด็ก   ทันตกรรมสำหรับเด็กหรือ Pedodontics เป็นทันตกรรมอีกสาขาหนึ่งที่ช่วยให้คำปรึกษา การดูแลรักษา และแก้ปัญหาสุขภาพภายในช่องปากสำหรับเด็ก ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 15 ปี ซึ่งมีความแตกต่างจากการทำทันตกรรมสำหรับผู้ใหญ่ ทั้งด้านโครงสร้างลักษณะของฟันและหลักจิตวิทยาที่จะช่วยโน้มน้าวให้เด็กยินยอมทำฟันง่ายขึ้นนั่นเอง   การทำทันตกรรมสำหรับเด็กนั้นมีหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพฟัน การขัดฟัน เคลือบฟลูออไรด์ การอุดฟัน การถอนฟัน การขูดหินปูน การรักษารากฟันน้ำนม การรักษาโพรงประสาทฟัน การครอบฟันน้ำนมในกรณีที่มีฟันผุลุกลาม การผนึกหลุมร่องฟันเพื่อป้องกันฟันผุ การ X – Ray การจัดฟันเบื้องต้น และการใส่เครื่องมือกันฟันล้มหรือเครื่องมือขยายช่องว่างสำหรับฟันแท้ เป็นต้น   เพราะฉะนั้นสุขภาพฟันที่ดีต้องเริ่มต้นมาจากวัยเด็ก โดยควรดูแลตั้งแต่ที่ยังเป็นฟันน้ำนมจนกระทั่งเป็นฟันแท้ จะช่วยให้เด็กๆ มีสุขภาพฟันที่ดี สามารถใช้บดเคี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับมีรอยยิ้มที่สดใสอีกด้วยค่ะ

การรักษารากฟัน

การรักษารากฟัน   มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ปล่อยปละละเลยการดูแลสุขอนามัยภายในช่องปาก จึงทำให้เกิดฟันผุและไม่รักษาโดยการอุดฟัน ก็จะทำให้ฟันผุลุกลามมากขึ้นจนถึงชั้นโพรงประสาทฟัน และมีอาการอักเสบ เกิดฝีหรือถุงหนองที่ปลายรากฟัน กลายเป็นแหล่งเชื้อโรคและทำให้ปวดทรมานมาก   การรักษารากฟันเป็นการตัดโพรงประสาทฟันหรือเนื้อเยื่อที่มีขนาดเล็กอยู่ใจกลางฟัน เมื่อทันตแพทย์ทำการตัดโพรงประสาทฟันที่มีการอักเสบหรือถูกทำลายออกแล้ว พื้นที่ส่วนที่เหลือจะทำความสะอาด จัดแต่งรูปทรง และอุดเพื่อปิดคลุมรากฟัน ซึ่งถ้าเป็นการทำทันตกรรมในอดีตจะต้องถูกถอนออก แต่ในปัจจุบันการรักษารากฟันจะช่วยรักษาฟันเอาไว้ได้   การรักษารากฟันมีวิธีการรักษาที่ค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อนพอสมควร ซึ่งจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายมากเลยทีเดียว ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของคนไข้แต่ละราย เพราะฉะนั้นการพิจารณาว่าควรรักษารากฟันหรือไม่ ควรให้ทันตแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยโรคจะดีที่สุด

ขูดหินปูนคืออะไร มีความจำเป็นหรือไม่ ?

ขูดหินปูนคืออะไร มีความจำเป็นหรือไม่ ?   หินปูนหรือหินน้ำลายเป็นแผ่นคราบจุลินทรีย์ (Bacterial Plaque) ที่มีการแข็งตัวมาจากธาตุแคลเซียมในน้ำลายเข้าไปตกตะกอน มีลักษณะเป็นคราบสีขาวขุ่นที่ประกอบไปด้วยเชื้อโรคติดแน่นอยู่บนตัวฟัน ถึงแม้ว่าจะบ้วนน้ำเป็นอย่างดีก็ไม่สามารถหลุดออกไปได้ หินปูนเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อเราแปรงฟันเพียง 2 – 3 นาที จะมีเมือกใสของน้ำลายมาเกาะที่ตัวฟัน จากนั้นเชื้อโรคที่อยู่ในช่องปากจะมาทับถมจนเกิดเป็นคราบจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคฟันผุและโรคปริทันต์ หากเราไม่กำจัดคราบจุลินทรีย์นี้จะเกิดการสะสมมากขึ้นและเป็นอันตรายต่อฟันและเหงือก โดยเฉพาะบริเวณคอฟัน     ความจำเป็นในการขูดหินปูน การทำความสะอาดฟันที่ไม่สะอาดเพียงพอ มีส่วนช่วยให้เกิดหินปูนได้ง่าย แม้แต่ส่วนที่อยู่ใต้เหงือกจะมองเห็นยาก จึงทำให้มีหินปูนที่กำจัดออกได้ยาก เราจึงต้องอาศัยทันตแพทย์ช่วยทำการขูดหินปูนออกแล้วทำรากฟันให้เรียบ เพื่อให้เหงือกสามารถยึดรอบตัวฟันแน่นเหมือนเดิม   สิ่งสำคัญที่สุดคือ ภายหลังจากทำการขูดหินปูนแล้ว เราควรที่จะดูแลสุขภาพช่องปากให้ถูกต้องทุกวัน ได้แก่ เราควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ ใช้ไหมขัดฟันทุกวัน ใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดลิ้น ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์ และที่สำคัญ ควรพบทันตแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน        

การถอนฟัน

การถอนฟัน   การถอนฟันเป็นหนึ่งในวิธีทางทันตกรรมที่สามารถช่วยรักษาฟันได้อย่างรวดเร็วที่สุด แต่ก็ต้องเผชิญกับการสูญเสียฟันไปด้วย ซึ่งมักจะเป็นฟันที่มีสภาพเกินจะเยียวยารักษาได้นั่นเอง หรือฟันมีปัญหาบางประการที่ทันตแพทย์เห็นสมควรให้ถอนออก ลักษณะฟันที่จำเป็นต้องถอนฟัน ฟันผุทะลุถึงโพรงประสาทฟันหรือฟันที่มีหนองบริเวณปลายรากฟัน จนไม่สามารถรักษาทางทันตกรรมอื่นๆ ได้ มีปัญหาโรคเหงือกอย่างรุนแรง ฟันหักอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้ ฟันคุดหรือฟันที่มีรูปร่างผิดปกติ และฟันที่ขึ้นในตำแหน่งผิดปกติ ฟันที่มีพยาธิสภาพอย่างเช่นมีถุงน้ำหรือเนื้องอก ฟันเกินที่ขึ้นมาไม่เป็นระเบียบ   การพิจารณาว่าจะต้องถอนฟันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและดุลพินิจจากทันตแพทย์เท่านั้น ซึ่งทันตแพทย์จะทำการซักประวัติเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น รวมถึงผู้ป่วยที่มีเลือดออกง่ายและหยุดยาก เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดภายหลังการถอนฟันค่ะ     ภายหลังจากการถอนฟัน เมื่อแผลหายดีแล้ว ควรที่จะใส่ฟันเพื่อทดแทนฟันที่ถูกถอนไป เพื่อป้องกันฟันซี่ข้างเคียงจะล้มเข้าหาช่องว่าง และป้องกันการละลายตัวของกระดูกบริเวณรอบๆซี่ฟันที่ถูกถอนออกไป ซึ่งการทดแทนฟันซี่ที่ถูกถอนไป มีหลายวิธี เช่น การใส่ฟันปลอม ซึ่งมีทั้งแบบถอดได้ และแบบติดแน่น หรือ การทำรากฟันเทียมเป็นต้น    

การผ่าฟันคุด

การผ่าฟันคุด   ฟันคุดเป็นลักษณะของฟันที่ไม่สามารถขึ้นมาในช่องปากได้ตามปกติ เนื่องจากอาจจะมีสิ่งที่ขัดขวางการขึ้นของฟันซี่นั้น เช่น เหงือกที่มีความหนาเกินไป ฟันบางซี่ กระดูก ทิศทางการขึ้นของฟันที่ผิดไปจากปกติ หรือแม้แต่ไม่มีที่ว่างพอให้ฟันสามารถขึ้นได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากขากรรไกรที่ไม่สัมพันธ์กับขนาดของฟันซี่นั้น   การผ่าฟันคุดเป็นการถอนฟันโดยใช้วิธีการผ่าตัด ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาฟันที่ขึ้นมาไม่ได้ และอาจจะส่งผลทำให้ภายในช่องปากมีอาการเหงือกอักเสบ การอักเสบติดเชื้อ การเกิดก้อนซีสหรือตุ่มน้ำในเหงือก ฟันผุที่เกิดจากอุปสรรคในการทำความสะอาด และอาการบวมที่ใบหน้าตามมาได้   การผ่าฟันคุดจำเป็นจะต้องใช้ยาชาเฉพาะที่ เพื่อลดความเจ็บปวดและทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ในขณะที่กำลังเข้ารับการผ่าฟันคุด และควรรับประทานยาตามที่ทันตแพทย์แนะนำให้ครบถ้วน จะช่วยระงับอาการปวดหลังการผ่าฟันคุดได้พอสมควร และสามารถหายเองได้ภายใน  5-7 วัน

การอุดฟัน

การอุดฟัน   ฟันผุเป็นปัญหาภายในช่องปากที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อพบปัญหานี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้ามีปัญหาฟันผุ ก็ต้องมีการซ่อมแซมหรือบูรณะฟันให้กลับมาทำหน้าที่ได้ตามปกติ ซึ่งทันตแพทย์จะใช้วิธีการอุดฟัน รวมถึงกรณีที่เกิดฟันบิ่น ฟันสึกกร่อน ฟันถูกทำลายจนเป็นโพรง เพื่อเป็นการปิดช่องทางไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปในเนื้อฟันได้ วัสดุที่นำมาใช้อุดฟันนั้นมีหลากหลายชนิด ได้แก่ อมัลกัม (Amalgam) วัสดุที่ทำจากโลหะอย่างเช่นทอง เงิน ทองแดง และสังกะสี วัสดุอุดฟันที่มีสีเหมือนฟันเรียกว่า “คอมโพสิตเรซิ่น” (Composite Resin) โดยจะเลือกใช้วัสดุชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์   เมื่อทำการอุดฟันเรียบร้อยแล้ว ควรรักษาความสะอาดภายในช่องปากเพิ่มมากขึ้น ด้วยการแปรงฟันให้สะอาดวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ ใช้น้ำยาบ้วนปากหรือกลั้วปากหลังรับประทานอาหาร จะช่วยป้องกันไม่ให้ฟันผุมากขึ้น และถ้าหากมีอาการเสียวฟัน ปวดฟัน หรือวัสดุที่อุดฟันนั้นแตกหรือหลุดออกมา ให้รีบไปพบทันแพทย์ทันที

ย้อนกลับด้านบน